นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ในการประชุมครั้งที่ 3/2558 วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ได้อนุมัตินโยบายการกำกับดูแลกิจการ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 1) และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 1) ซึ่งเป็นการปรับปรุงนโยบายฯและจรรยาบรรณฯฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการ ASEAN Corporate Governance Scorecard และรองรับการเตรียมการขอรับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต โดยนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณที่ปรับปรุงใหม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและการให้ข้อมูลการกระทำความผิดและการทุจริตอีกหลายประการ นโยบายการกำกับดูแลกิจการประกอบด้วย 7 หมวด ส่วนจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 16 หัวข้อ ทั้งนี้ นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณที่ปรับปรุงใหม่นี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก.ล.ต.) ได้ประกาศใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ซึ่งมีความแตกต่างจากหลักการเดิมที่บริษัทฯใช้เป็นฐานในการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 1) คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการจึงเห็นสมควรทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 1) นี้ให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศใช้และจัดทำร่างเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทฯในการประชุมครั้งที่ 7/2559-2560 วันที่ 29 กันยายน 2560 มีมติเห็นชอบนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 พ.ศ. 2560) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป โดยนโยบายการกำกับดูแลกิจการประกอบด้วย
- สิทธิของผู้ถือหุ้น
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
- บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
- ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
- การต่อต้านการคอร์รัปชั่น
- การให้ข้อมูลการกระทำผิดและการทุจริต
- DOWNLOAD PDF FILE CORPORATE GOVERNANCE POLICY
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
บริษัทได้คำนึงถึงการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เท่าเทียมกัน และความน่าเชื่อถือ โดยบริษัทได้ดำเนินการ
- เปิดเผยข้อมูล แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ภายใน 3 เดือนและรายงานประจำปี (แบบ 56-2 ) ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ ฯ และผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัท www.kslgroup.com นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของบริษัท ยังมีการนำเสนอข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
- ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมิได้ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งนี้ บริษัทได้มีการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการเปิดเผยข้อมูลผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากบุคคลภายนอก
- บริษัทเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของหน้าที่ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการชุดย่อย นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร นโยบายการกำกับดูแลโดยสรุป นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม และการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด จรรยาบรรณธุรกิจโดยสรุป ประวัติการอบรมกรรมการ
- จัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี ซึ่งมีเนื้อหารับรองการปฏิบัติตามหลักการบัญชี และมีการรายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชี โดยรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
- ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทประกอบด้วย ข้อมูลองค์กร โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างคณะกรรมการ วิสัยทัศน์ / ภารกิจ ธุรกิจและผลิตภัณฑ์ นโยบายการกำกับดูแลกิจการและผลการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด จรรยาบรรณธุรกิจ ข้อมูลนักลงทุน นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รายงานประจำปี งบการเงิน และข่าวสารที่บริษัทเผยแพร่ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงต้องรายงานการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องซึ่งมีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงเป็นครั้งแรก และรายงานทุกครั้งที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสีย รวมถึงรายงานเป็นประจำทุกสิ้นปี ทั้งนี้ สำนักเลขานุการบริษัทและกฎหมายจะจัดส่งสำเนารายงานการมีส่วนได้เสียดังกล่าวให้แก่ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบทราบ เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตรวจสอบและป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และทั่วถึง บริษัทจึงจัดทีมงานเพื่อรับผิดชอบติดต่อประสานงานกับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ email: ir@kslgroup.com หรือติดต่อที่
- นายมีชัย ปิยะวิเศษพัฒน์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-642-6230 email: meechai@kslgroup.com
- นายชนะชัย ชุติมาวรพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-642-6230 email: chanachai@kslgroup.com
- นายชลัช ชินธรรมมิตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-642-6230 email: chalush@kslgroup.com
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทได้ดีขึ้นและสามารถนำไปถ่ายทอดต่อนักลงทุนที่สนใจได้ บริษัทจึงจัดทำแผนงานนักลงทุนสัมพันธ์ประจำปี โดยมีการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ทุกไตรมาส ณ ห้องประชุมของบริษัท นอกจากนี้ ในปี 2559 บริษัทเข้าร่วมกิจกรรม ”บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน” (Opportunity Day) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีการประชุมเพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและผลการดำเนินงาน ตลอดจนความก้าวหน้าของโครงการต่างๆให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน และสื่อมวลชนที่มาร่วมงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ บริษัทประสานงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในการจัดทำแผน เพื่อร่วมเดินทางในการนำเสนอผลการดำเนินงานของบริษัทและความก้าวหน้าของโครงการของบริษัท โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทเข้าร่วมประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าที่ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้าพบเพื่อขอข้อมูลรายละเอียดและเยี่ยมชมกิจการของบริษัท ซึ่งสามารถทำตารางนัดหมายล่วงหน้า ผ่านทีมงานนักลงทุนสัมพันธ์
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทฯ มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการ เป็นไปตามนโยบายแนวทางและเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือ หุ้น อยู่ในกรอบของการมีจรรยาบรรณที่ดี และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นสมควรกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯไว้ ดังต่อไปนี้
- โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการจำนวน 21 คน โดยเป็นกรรมการอิสระจำนวน 7 คน หนึ่งในกรรมการอิสระเป็นประธานกรรมการบริษัท ซึ่งไม่เป็นบุคคลเดียวกับกรรมการผู้จัดการ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะเป็นผู้ที่มีความหลากหลายในความรู้ความสามารถ เช่น ความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านบัญชี การเงิน กฎหมาย การปกครอง เทคโนโลยีการผลิต บุคคล จัดซื้อ การตลาด อสังหาริมทรัพย์ ตรวจสอบภายในเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
- ตามข้อบังคับของบริษัท การประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการจำนวนหนึ่งในสามออกจากตำแหน่ง ถ้าจำนวนกรรมการแบ่งเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับหนึ่งในสาม ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจะอยู่ประมาณ 3 ปี ในกรณีที่คณะกรรมการครบวาระ หากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการชุดเดิมยังคงทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาแทน
- คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ โดยกำหนดคุณสมบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบและระยะเวลาดำรงตำแหน่งไว้ในกฎบัตรหรือประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุด
เพื่อความโปร่งใสและเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการส่วนใหญ่ในคณะกรรมการชุดย่อยเป็นกรรมการอิสระ และประธานคณะกรรมการชุดย่อยเป็นกรรมการอิสระ นอกจากนี้ เพื่อให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อยมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ประธานคณะกรรมการจะไม่เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อย ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดย่อยมีวาระ 3 ปี ในกรณีที่คณะกรรมการครบวาระ หากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการชุดเดิมยังคงทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาแทน และในกรณีที่กรรมการหมดวาระในคณะกรรมการบริษัท และไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอีก จะทำให้วาระของกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยหมดวาระลงตาม ทั้งนี้หากมีกรรมการเพิ่มใหม่ระหว่างปีในกรรมการชุดย่อย ให้กรรมการนั้นมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับ วาระของคณะกรรมการชุดย่อยเดิม
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นของกรรมการ ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ที่ว่ากรรมการบริษัทจะประกอบกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง โดยนโยบายดังกล่าว ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้ใช้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้วย
- บริษัทได้กำหนด วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจและงบประมาณของบริษัท ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและงบประมาณที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยปัจจุบัน วิสัยทัศน์ของบริษัทได้เปลี่ยนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมาเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้พลังงานทดแทนแก่สรรพสิ่ง เช่น น้ำตาลเป็นพลังงานทดแทนสำหรับมนุษย์ เอทานอลเป็นพลังงานสำหรับรถยนต์ กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานในเครื่องใช้ไฟฟ้า และปุ๋ยอินทรีย์ให้พลังงานสำหรับพืช โดยบริษัทได้มีการกำหนดแผนกลยุทธ์ระยะสั้น และระยะยาวในการพัฒนาโครงการและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการส่งเสริมและพัฒนาสังคมโดยเป็นผู้ประกอบการที่มีจรรยาบรรณ ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
- คณะกรรมการบริษัทให้มีการจัดทำคู่มือนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และคู่มือจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณทางธุรกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กร ดำเนินการใดๆ ด้วยความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์สุจริต มีการกำหนดนโยบาย แผนงานกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการประเมินผล ตลอดจนการดำเนินงานและการกำกับดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยงอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
- คณะกรรมการบริษัทให้มีการจัดทำคู่มือนโยบายการให้ข้อมูลการกระทำผิดและการทุจริต เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนการกระทำผิดและทุจริต การให้ข้อมูลการกระทำผิดและทุจริต การลงโทษผู้กระทำผิด การคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล
- การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการได้ดูแลอย่างรอบคอบเมื่อเกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตรวจสอบ ในหัวข้อที่เป็นรายการระหว่างกัน ตามข้อกำหนด และวิธีการของตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในรายการที่จะทำไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีการเปิดเผยข้อมูลถูกต้องและครบถ้วนในรายงานประจำปีและแบบ 56-1
- การบริหารงานและระบบการควบคุมภายในที่ดีมีประสิทธิผล เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีข้อมูลที่สมบูรณ์และเชื่อถือได้ มีการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบข้อบังคับอย่างถูกต้อง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของบริษัทเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการดูแลป้องกันระวังรักษาทรัพย์สินของบริษัท โดยบริษัทมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบประเมินผลให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของบริษัท และมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล หน่วยงานดังกล่าวมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ มีการทบทวนความเหมาะสมและความเพียงพอของระบบปีละ 1 ครั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบมีการให้ความเห็นเรื่องความเพียงพอของระบบควบคุมภายในไว้ในรายงานประจำปี
- การบริหารความเสี่ยง อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมทั้งองค์กร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางระบบการบริหารความเสี่ยง โดยจะมีการทบทวนความเพียงพอของระบบและประสิทธิผลของการจัดการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการจัดให้มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าและรายการผิดปกติ
- การประชุมคณะกรรมการ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 6 ครั้งต่อปีโดยกำหนดวันประชุมไว้เป็นการล่วงหน้าตลอดทั้งปี และแจ้งให้คณะกรรมการแต่ละท่านทราบและทำเป็นตารางประจำปีอย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ในแต่ละเดือน บริษัทได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหารได้มีการนำสิ่งที่ผ่านการพิจารณา กลับมาแจ้งให้คณะกรรมการบริษัททราบ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกำกับ ควบคุม ดูแล การปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการได้อย่างต่อเนื่อง
ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และเลขานุการบริษัท ร่วมกันพิจารณาการเลือกเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการ โดยดูให้แน่ใจว่าเรื่องที่สำคัญได้นำเข้ารวมไว้แล้ว และกรรมการแต่ละคนมีความเป็นอิสระที่จะเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์เข้าสู่วาระการประชุม
สำนักเลขานุการบริษัทและกฎหมาย จัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้กรรมการได้ศึกษามาก่อนล่วงหน้า ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการพิจารณา
ในระหว่างการประชุม ประธานกรรมการจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการจะอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ ประธานกรรมการส่งเสริมให้มีการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ กรรมการให้ความสนใจกับทุกวาระที่นำเข้าสู่ที่ประชุม รวมถึงเรื่องการกำกับดูแลกิจการ นอกจากนี้การประชุมคณะกรรมการบริษัท มีการเชิญผู้บริหารระดับสูงในแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูล ปัญหาและชี้แจงรายละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ทั้งยังเป็นการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นเพิ่มเติมผ่านการสอบถามผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งในบางประเด็นที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ กรรมการบริษัทสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านเลขานุการของบริษัท
รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท จะประกอบด้วย วันเวลาเริ่ม เวลาสิ้นสุดประชุม รายชื่อกรรมการที่เข้าประชุมและขาดประชุม สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่เสนอ สรุปประเด็นการอภิปรายและข้อสังเกต มติคณะกรรมการและความเห็นของกรรมการที่ไม่เห็นด้วย ชื่อผู้จดรายงาน และชื่อผู้รับรองรายงาน บริษัทได้มีการจัดเก็บรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัทเป็นรูปเล่มและในรูปแบบ PDF ซึ่งสามารถสืบค้นง่าย แต่แก้ไขไม่ได้ มีการบันทึกและเปิดเผยจำนวนครั้งการเข้าประชุมคณะกรรมการ เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทจะจัดขึ้นทุกไตรมาส แต่การประชุมคณะกรรมการบริหารซึ่งเกี่ยวเนื่องกับผลการดำเนินงานของบริษัทจะจัดขึ้นทุกเดือน จึงมีการรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัททราบด้วย
ในแต่ละปี คณะกรรมการจัดให้มีการประเมินผลปฎิบัติงานประจำปี โดยใช้หลักเกณฑ์ประเมินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีการประเมินแบบทั้งคณะและรายบุคคล รวมถึงคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดโดยภายหลังจากได้รับผลการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาผลและหาแนวทางการปรับปรุงการปฎิบัติงาน
การต่อต้านการคอร์รัปชั่น
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 บริษัทโดยประธานกรรมการบริษัทได้ร่วมลงนามในประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต รับทราบข้อตกลงคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฎิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
ปัจจุบัน บริษัทได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560
นโยบายบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ เป็นผู้กําหนดนโยบาย และกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้ฝ่ายจัดการนําไปปฏิบัติ ฝ่ายจัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการกําหนด วิเคราะห์ ประเมินผล และออกแบบระบบงาน โดยนําปัจจัยเสี่ยงที่คํานึงถึงปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งการวางแผนการดําเนินธุรกิจหรือการปฏิบัติงานจะคํานึงถึงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ฝ่ายจัดการสามารถออกแบบระบบที่มีจุดควบคุม เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ โดยรายละเอียดปัจจัยความเสี่ยงได้มีการระบุไว้แล้ว
ในระหว่างปี 2559 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและสํานักบริหารความเสี่ยงและพัฒนาระบบได้จัดให้มีการดําเนินการตามแผนพัฒนากิจกรรมการบริหารความเสี่ยง ดังนี้
- จัดทําคู่มือการปฏิบัติงานของผู้จัดการโรงงานตามโครงสร้างงานที่รับผิดชอบของกลุ่มบริษัททั้ง 7 สถานประกอบการซึ่งทุกส่วนงานได้เขียนใบพรรณา (Job Description) และขั้นตอนการปฎิบัติงาน (Work Instruction) เพื่อให้ผู้จัดการโรงงานรับทราบถึงการปฎิบัติงานของส่วนงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ และเป็นพื้นฐานให้แต่ละส่วนงานดำเนินการและพัฒนาขั้นตอนการปฎิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
- ทบทวนกฎบัตรกรรมการบริหารความเสี่ยง, วัตถุประสงค์ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารความเสี่ยงฯ, คู่มือการบริหารความเสี่ยงและคู่มือการปฏิบัติงานของสำนักบริหารความเสี่ยงประจำปี 2559 / 2560
- จัดทำเนื้อหาเพื่อเป็นเครื่องมือในการให้การอบรม เรื่องการควบคุมการปฎิบัติตามข้อกำหนดและการตรวจสอบการปฎิบัติตามข้อกำหนด (Compliance and Compliance Audit) การบริหารความเสี่ยงขององค์กรพร้อมแบบทดสอบฉบับย่อ (Risk Management) ระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจพร้อมแบบทดสอบ (Business Continuity Management System: BCMS) และเนื้อหาแนวร่วมต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชั่นพร้อมแบบทดสอบฉบับย่อ โดยใช้ข้อมูลนโยบายการกำกับดูแลกิจการฉบับปรับปรุงประจำปี 2559 เป็นพื้นฐานในการจัดทำเนื้อหา
- อบรมผู้บริหารและพนักงานทั้ง 7 สถานประกอบการพร้อมสำนักงานใหญ่ ตามเนื้อหาที่กล่าวถึงข้างต้น พร้อมทั้งให้ผู้เข้ารับการอบรมจัดทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินผลความเข้าใจในเนื้อหาที่ได้รับการอบรม
- จัดทำแนวปฎิบัติการควบคุมภายในด้านการปฎิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับตามแนวคิด COSO- ERM ที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการกำกับดูแลสภาพแวดล้อม การควบคุมปัจจัยเสี่ยง กิจกรรมการควบคุมสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งการติดตามและประเมินผล พร้อมทั้งรวบรวมและจัดทำรายงานสรุปการปฎิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กลุ่มบริษัททั้ง 7 สถานประกอบการพร้อมสำนักงานใหญ่ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมการปฎิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) ของบริษัทใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามผลการปฎิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว
- จัดทำกระบวนการในการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น ตามแบบเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงเรื่องทุจริต (FRA Tool : Fraud Risk Assessment Tool) และกำหนดแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการควบคุมดูแล เพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น โดยกำหนดปัจจัยเสี่ยงใดมีโอกาสหรือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ ผู้รับผิดชอบความเสี่ยงดังกล่าวต้องจัดทำแผนการควบคุมป้องกันหรือแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดประสานงานให้ผู้รับผิดชอบทำการติดตามผลการประเมิน และให้ผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทเป็นผู้สอบทานข้อมูลว่าผู้รับผิดชอบความเสี่ยงได้ปฎิบัติตามแผนการและหลักการปฎิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น
- อบรมคู่ค้าและลูกค้าที่เกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ในงานประชุมมาตรการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับคู่ค้าและลูกค้า ของกลุ่มบริษัทในเครือเคเอสแอล ณ วันที่ 12 กันยายน 2559 อาคาร เค.เอส.แอล. ทาวเวอร์ ชั้น 17 เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่า บริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งรณรงค์ให้คู่ค้าและลูกค้าเข้าใจและเข้าร่วมโครงการการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกับบริษัทในโอกาสต่อไป
- กําหนดสาเหตุความเสี่ยง และผู้รับผิดชอบความเสี่ยงตามสายงานสําหรับแต่ละปัจจัยเสี่ยงประจําปี 2559/2560 ที่ผ่านพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
- จัดทําแผนสนับสนุนการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยเสี่ยงใหม่ ประจําปี 2559/2560 พร้อมทั้งจัดหาแนวทางและมาตรการในการตอบสนองต่อความเสี่ยงเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการร่วมจัดทํารายงานสรุปสถานะความเสี่ยงครั้งที่ 4/2559
- ประชุมเตรียมการให้สํานักบริหารความเสี่ยงฯ ลงพื้นที่ปฎิบัติงานตามแผนสนับสนุนข้างต้น
- สนับสนุนจัดทํารายงานสรุปสถานะความเสี่ยงประจําปี 2559 รวม 4 ครั้งให้กับผู้รับผิดชอบความเสี่ยงตามสายงานของกลุ่มบริษัททั้ง 7 สถานประกอบการพร้อมสำนักงานใหญ่
- สรุปรายงานสถานะความเสี่ยงประจําปี 2559 ของกลุ่มบริษัทต่อคณะกรรมการของบริษัท โดยแสดงข้อมูลรายการความเสี่ยงที่คงที่ ความเสี่ยงที่ลดลง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสาเหตุอย่างละเอียดเพื่อให้ฝ่ายจัดการนําไปดําเนินการและวางแผนให้เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้จากการพิจารณาผลการปฎิงาน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีความเห็นว่า ระบบการควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่องค์กรยอมรับได้ และยังสามารถพัฒนาการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์กรและส่วนงานต่างๆ อีกด้วย
บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- สิทธิของผู้ถือหุ้น
ตามได้กล่าวถึง สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การปฎิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการเรื่องอื่นๆ ข้างต้น บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันและกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจให้สอดคล้องกัน
- สิทธิของพนักงาน
บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพนักงานในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจให้สอดคล้องกัน นอกจากสิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ แรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อพนักงานของบริษัททุกระดับชั้น ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย โดยพนักงานทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และมีสิทธิได้รับสวัสดิการตามตำแหน่งหน้าที่ที่พึงได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และในการพิจารณาปรับตำแหน่งหรือเงินเดือนของพนักงานบริษัท ได้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมนอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายส่งเสริมการเสริมสร้างความรู้ ผ่านการอบรมภายใน และภายนอกบริษัท เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งบริษัทยังมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่พนักงานภายในบริษัท มีการประกาศนโยบายมรท.8001-2553 มาตรฐานแรงงานไทยด้านสิทธิมนุษยชนและความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมกับได้ใบรับรอง มรท.8001-2553 ระดับสมบูรณ์ขั้นสูงสุดจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และรักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
- สิทธิของลูกค้า
บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับลูกค้าในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียว่าบริษัทใช้ระบบการจัดการคุณภาพในระดับสากล เช่น ISO 9001:2008, FSSC 22000, GMP, HACCP, HALAL, KOSHER เป็นต้น เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าในด้านคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สินค้า การส่งมอบที่ตรงเวลา และบริการในระดับโลก ตลอดจนรักษาความลับของลูกค้าโดยเคร่งครัด และกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจให้สอดคล้องกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
- สิทธิของคู่ค้า
บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคู่ค้าในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียว่าสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ความเสมอภาคในการดำเนินธุรกิจและผลประโยชน์ร่วมกัน การจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสและยุติธรรม บริษัทกำหนดคุณสมบัติของคู่ค้าที่มีสิทธิเข้าเสนอราคาและประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ข้อมูลและเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องครบถ้วนแก่คู่ค้าที่มีสิทธิเสนอราคาโดยวิธีที่เปิดเผยและเท่าเทียมกัน รักษาข้อมูลการเสนอราคาที่ได้รับจากคู่ค้าไว้เป็นความลับไม่เปิดเผยแก่คู่ค้าที่เสนอราคารายอื่น ไม่เรียกไม่รับผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัท และได้กำหนดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกัน (คู่ค้าบริษัท นอกจากหมายถึงคู่สัญญาในการซื้อขายและการจ้างระหว่างกันแล้ว ยังรวมไปถึงผู้ร่วมลงทุนกับบริษัทในบางกิจการด้วย บริษัทคำนึงถึงสิทธิตามกฎหมายและสิทธิตามสัญญาร่วมทุนมาโดยตลอด โดยยึดหลักสุจริต ความเท่าเทียมกัน และสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ลงทุน)
- สิทธิของเจ้าหนี้
บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเจ้าหนี้ในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียว่าบริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีกับเจ้าหนี้ทั้งในแก่การชำระหนี้ การให้และรักษาหลักประกัน และเงื่อนไขอื่นๆ ที่กำหนด เช่น รายงานข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่ถูกต้องแก่เจ้าหนี้ การรักษาอัตราส่วนหนี้สินและทุน เป็นต้น ในการดำเนินงาน บริษัทได้สร้างความไว้วางใจให้กับเจ้าหนี้ผ่านการบริหารงานอย่างมีจรรยาบรรณ และอำนวยความสะดวกด้านข้อมูล ข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างเปิดเผย
- สิทธิของชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สิทธิของชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม : บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับชุมชนในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียว่าบริษัทให้การสนับสนุนและการจัดกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกุศลหรือการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่บริษัทประกอบกิจการให้ความร่วมมือต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน และสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน อาทิเช่น
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) KSL ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG100 จากสถาบันไทยพัฒน์ โดยการจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 เป็นข้อมูลตั้งต้นที่ผู้ลงทุนสามารถใช้คัดเลือกหลักทรัพย์จดทะเบียนที่นอกจากจะมีผลประกอบการที่ดีมีกำไรต่อเนื่องแล้วยังมีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ร่วมบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพะเยา ในโครงการ “รวมใจช่วยผู้ประสบภัยภาคเหนือ” โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยามาเป็นตัวแทนรับมอบเงินและของบริจาค
- บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด จัดโครงการ "ปันน้ำใจให้ชีวิต" อบรมความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการ “CSR-DW continuous 2016” ณ ชุมชนบ้านสำนักเย็น ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
- บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาสู่ลำรางสาธารณะ บ้านหนองบัวเงิน ตำบลพังทุย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 5,000 ตัว ในโครงการอยู่ดีมีสุข เพื่อเพิ่มจำนวนและขยายพันธุ์ปลาให้กับชุมชนต่อไป
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง และบริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด จัดโครงการปลูกต้นไม้ สร้างผืนป่าเพื่อชุมชนบริเวณถนน 2.5 กิโลเมตร โดยมีผู้นำชุมชน และพนักงานร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และสร้างอากาศบริสุทธิ์
- ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนบ้านหนองไม้แก่น ตำบลหนองลาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้โครงการ 70 ปี KSL สู่ 70 กิจกรรมพอเพียง สนับสนุนโดยบริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บริษัทได้ส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้ฅนมีน้ำยา ส่งเสริมการทำสบู่ แชมพู น้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง และบริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด จัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ ประจำปี 2559 ในเขตพื้นที่รอบโรงงาน เพื่อเข้าพบปะชาวบ้าน รับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบโรงงาน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโรงงาน นโยบายอ้อย และเศรษฐกิจพอเพียงกับการลดรายจ่ายในครัวเรือนและการทำสบู่ก้อน
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ,บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด และบริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ได้จัดโครงการ CSRKSL เยี่ยมยามถามข่าว ในการออกตรวจสุขภาพให้กับชุมชนรอบๆโครงการ โดยทีมแพทย์ จากโรงพยาบาลน้ำพองและเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.ของแต่ละเขต ร่วมลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ ให้คำแนะนำทางด้านสุขภาพ การใช้เวชภัณฑ์ ยา และการควบคุมโรค อีกทั้งมีทีมแพทย์นักกายภาพบำบัด เพื่อให้ความรู้ด้านการออกกำลังกายให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม
- โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 21 เจ้าหน้าที่กิจกรรมองค์กรและสังคม วิทยากรประจำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเคเอสแอลริเวอร์แคว และเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด ร่วมกันลงพื้นที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 21 ตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อปรับปรุงโครงสร้างโรงเพาะเห็ด และแนะนำวิธีการเปิดดอก การดูแลและให้น้ำอย่างถูกวิธีสำหรับผลผลิตที่ได้จะเก็บขายสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับครูและนักเรียน
- บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง จัดโครงการอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเคเอสแอล ริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรี
- สิทธิมนุษยชน
ด้านสิทธิมนุษยชน: คณะกรรมการบริษัทมีการกำหนดนโยบายที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมุษยชน โดยบริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการ โดยบริษัทสนับสนุนและเคารพสิทธิมนุษยชน และดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของปฎิญญาและอนุสัญญาของสหประชาชาติ และข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆที่ประเทศไทยเป็นภาคี และจะไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำใดๆที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
ในส่วนของสิ่งแวดล้อม บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหมวดที่ว่าด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียว่า บริษัทใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างประหยัด บริษัทสนับสนุนการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการใช้วัตถุดิบและของเหลือใช้ให้คุ้มค่าที่สุดโดยหมุนเวียนไปใช้ในกระบวนการผลิตต่างๆ เช่น กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยจะเป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำที่ใช้ทั้งในการผลิตน้ำตาลทรายและการปั่นเทอร์ไบน์ผลิตกระแสไฟฟ้า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้จะนำมาใช้ในกระบวนการตกตะกอนของน้ำอ้อย น้ำจากกระบวนการผลิตเอทานอลจะใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในโรงงานได้อีก เป็นต้นส่วนที่โรงงานจะเน้นการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยของเสียหรือมลภาวะสู่ชุมชน บริษัทได้มีการนำเครื่องดักจับฝุ่นละอองที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมโดยรอบบริษัทพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตให้สะอาดพอที่จะนำกลับมาใช้หรือปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้สำหรับโครงการที่อาจสร้างผลกระทบให้กับชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม บริษัทจะศึกษาและสอบถามความคิดเห็นของผู้อาจได้รับผลกระทบ และเตรียมการลดผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ รวมถึงบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีการศึกษาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมและกระบวนการลดผลกระทบ พร้อมไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ นอกจากนี้ บริษัทได้ปฎิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
คณะกรรมการมีการกำหนดนโยบายและแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยกำหนดไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
การควบคุมภายใน
บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การดำเนินเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมเพียงพอ มีประสิทธิภานในการปกป้องรักษาและดูแลทรัพย์สิน และบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น โดยได้ออกแบบระบบการควบคุมภายในให้กับทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการอิสระ เป็นผู้สอบทานการประเมินระบบการควบคุมภายใน โดยมีฝ่ายตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่สอบทานการปฏิบัติงานในฝ่ายต่างๆ ของบริษัทฯ ตามแผนงานตรวจสอบประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ
บริษัทฯ มีการประเมินระบบการควบคุมภายในตามกรอบโครงสร้างการควบคุมภายใน ตามมาตรฐานสากลของ COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Tread way Commission) อย่างครบถ้วน มีสาระสำคัญดังนี้
1. การควบคุมภายในองค์กร
บริษัทฯ มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติงานที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้ มีการทบทวนเป้าหมายและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานจริงกับเป้าหมายทุกระยะ จัดให้มีโครงสร้างสายการรายงาน การจัดทำผังองค์กรแบ่งแยกหน้าที่ตามสายงาน การกำหนดอำนาจในการสั่งการและความรับผิดชอบที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ และกำหนดเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณ นโยบายในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ แสดงถึงความยึดมั่นในคุณค่าของความซื่อตรงและจริยธรรม รวมทั้งจัดทำอำนาจดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร และมีคู่มือการปฏิบัติงานหลักที่สำคัญ ซึ่งมีการทบทวนเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่อยู่เสมอ
คณะกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทำหน้ที่กำกับดูแลและพัฒนการดำเนินการด้านการควบคุมภายใน แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจูงใจ พัฒนาและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ กำหนดให้บุคลากรมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมภายใน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กรในด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในบริษัทฯ และทั้งนี้บริษัทฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต
2. การประเมินความเสี่ยง
บริษัทฯ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้สามารถระบุและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร คณะกรรมการตรวจสอบได้ร่วมกับฝ่ายบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ ในการพิจารณาการประเมิน ปัจจัยความเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยงได้ระบุ และวิเคราะห์ความเสี่ยงทุกประเภท รวมทั้งความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่อาจกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ไว้อย่าง ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรและจัดระดับความเสี่ยงที่สำคัญตำมผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการทางธุรกิจเพื่อกำหนดแผนงานการบริหารความเสี่ยง
3. การควบคุมการปฎิบัติงาน
บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญในกำรดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทำงในการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีมาตรการควบคุมที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เลือกและพัฒนากิจกรรมการควบคุมทั่วไปด้วยระบบเทคโนโลยี เพื่อช่วยสนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร จัดให้มีกิจกรรมการควบคุมผ่านทางนโยบาย ซึ่งได้กำหนดสิ่งที่คาดหวังและขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ นโยบายที่กำหนดไว้นั้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ มีการจัดทำคู่มืออำนาจดำเนินการเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และวงเงิน อำนาจอนุมัติของฝ่ายบริหารในแต่ละระดับอย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร การจัดทำคู่มือมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนด และจัดโครงสร้างการทำงานโดยให้มีการแบ่งแยกหน้าที่การอนุมัติ การบันทึกรายการบัญชี และการดูแลจัดเก็บทรัพย์สินออกจากกัน รวมทั้งติดตามให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
4. ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล
บริษัทฯ ได้จัดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญอย่างเพียงพอ ได้แก่ การจัดหาข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกอย่างครบถ้วน ถูกต้องทันเวลาและมีคุณภาพเพื่อสนับสนุนให้การควบคุมภายในสามารถดำเนินไปได้ตามที่กำหนดไว้ มีการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และมีการจัดทำรายงานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เสนอผู้บริหารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจโดยการจัดทำรายงานเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักการและเหตุผล พร้อมเอกสารประกอบข้อเท็จจริงรายงานทางบัญชีและการเงิน มีการจัดเก็บเอกสารประกอบ การบันทึกบัญชีไว้อย่างครบถ้วน เพื่อความโปร่งใสและเพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิบัติงาน คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาร่วมกับ ผู้สอบบัญชี ฝ่ายตรวจสอบภายใน และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินของบริษัททุกไตรมาส เพื่อให้มีความมั่นใจว่าบริษัทฯ มี การใช้นโยบายบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปและเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลอย่างเหมาะสม และมีการประชุมเพิ่มเติมในวาระที่สมควร
การสื่อสารข้อมูล มีการจัดช่องทางการสื่อสารที่มีความเหมาะสม เพื่อสื่อสารหน้าที่และความรับผิดชอบรวมทั้งเรื่องต่างๆ ให้พนักงานรับทราบ การกำหนดช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานภายในบริษัทฯและกับบุคคลภายนอกเกี่ยวกับประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อการควบคุมภายใน
5. ระบบการติดตาม
บริษัทฯได้มีการติดตามผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และมีระบบการติดตามการปฏิบัติงานเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหารเพื่อติดตามเป้าหมายและกำกับการดำเนินการตามแผนกลยทุธ์แผนงาน และโครงการที่อยู่ในแผนธุรกิจประจำปี พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเปรียบเทียบผลงานจริงกับประมาณ ในกรณีที่ผลการดำเนินงานจริงมีความแตกต่างจากประมาณการก็จะให้ แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดผลแตกต่าง เพื่อกำหนดแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ผู้รับผิดชอบนำเสนอรายงานเพื่อทบทวนการปฏิบัติงงนและการวิเคราะห์สาเหตุตลอดจนร่วมพิจารณาเพื่ออนุมัติแผนการแก้ไขปัญหา และให้รายงานการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการติดตามผลไว้โดยชัดเจน มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอครบถ้วนถูกต้อง มีการเปิดเผยรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
จัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมภายในยังดำเนินไปอย่างครบถ้วนเหมาะสม มีการประเมินและสื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายในอย่างทันเวลาต่อบุคคลที่รับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงผู้บริหาร ระดับสูงและคณะกรรมการตามความเหมาะสม โดยผู้รับผิดชอบในฝ่ายงานรับผิดชอบในการดูแลการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายใน และมีฝ่ายตรวจสอบภายในทำการตรวจสอบการปฏิบัติและรายงานผลอย่างเป็นอิสระต่อคณะกรรมการตรวจสอบ โดยในปี 2559 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุมรวม 5 ครั้ง
แบบฟอร์ม
-
ช่องทางการร้องเรียน
ช่องทางร้องเรียน
-
ติดต่อเลขานุการบริษัท
ช่องทางร้องเรียน
Please Log In
โปรดกรอก Username และ Password เพื่อเข้าไปดูหน้า คู่มือกรรมการ